โรคอุจจาระร่วงโรคที่มากับหน้าร้อน
โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ภัยร้ายช่วงหน้าร้อน
>>ดาวน์โหลดโพสเตอร์รณรงค์โรคอุจจาระร่วง
ในช่วงหน้าร้อนโรคระบบทางเดินอาหารเป็นโรคที่พบได้มาก โดยเมื่อปี 2555 มีผู้ป่วยทั้งหมด 1,164,902 ราย เสียชีวิต 38 ราย โรคที่พบมากอันดับ 1 กว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยทั้งหมด ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ซึ่งพบผู้ป่วยกว่า 1 ล้านราย และ เสียชีวิต 37 ราย โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดท้องร่วงมาจากหลายปัจจัย อาทิ น้ำแข็งไม่สะอาด อาหารไม่สะอาด
ทั้งนี้ อุจจาระร่วง (Diarrhea) หมายถึง ภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลว จำนวน 3 ครั้งต่อกันหรือมากกว่า หรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 1 ครั้ง ใน 1 วัน หรือถ่ายเป็นมูกหรือปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง
อุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute Diarrhea) เกิดตั้งแต่เริ่มมีอาการอุจจาระร่วง เมื่อได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องจะถ่ายอุจจาระดีขึ้นภายใน 5-6 วัน
สาเหตุ
สาเหตุของอุจจาระร่วงเฉียบพลันส่วนใหญ่เกิดจาการติดเชื้อ ไวรัส (Rotavirus) เชื้อไวรัสบิดไม่มีตัว (Shigella) ไวรัส Salmonella (เชื้อที่ทำให้เกิด โรคไทฟอยด์) ติดเชื้อไวรัส E Coli เชื้อไวรัส Campylobucter Jejuni เชื้ออหิวาต์ และพวกที่เพาะเชื้อไม่ขึ้น
การติดต่อของโรค
โดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อที่ออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย
ระยะฟักตัวของโรค
อาจสั้น 10-12 ชั่วโมง หรือ 24-72 ชั่วโมง ขึ้นกับชนิดของเชื้อก่อโรค
ระยะติดต่อ
ช่วงระยะที่มีอาการของโรค
อาการและอาการแสดง
- เชื้อไวรัส อาจมีไข้ต่ำๆ เป็นหวัด ต่อมามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และถ่ายอุจจาระเหลวตามมา โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการอยู่นาน 1-6 วัน
- เชื้อแบคทีเรีย อาการถ่ายอุจจาระมีหลายลักษณะ ตั้งแต่ถ่ายเหลว มีมูกปนเลือด รายที่รุนแรงถ่ายอุจจาระเป็นเลือดปนหนอง
การรักษา
โดยปกติท้องเสียเฉียบพลันมักจะหายได้เองภายใน 7 วัน ควรให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้อาเจียน แก้ปวดท้อง น้ำเกลือแร่ทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ และการให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อฆ่าเชื้อที่เป็นสาเหตุ เช่น Metronidazal สำหรับเชื้อบิดมีตัว Tetracycline สำหรับอหิวาห์ เป็นต้น
เมื่อใดควรไปพบแพทย์
- อาการท้องเสีย ไม่ดีขึ้นใน 24 ชั่วโมง
- เป็นในผู้ป่วยโรคที่มีภูมิต้านทานต่ำ
- เด็กหรือผู้สูงอายุ ที่มีอาการขาดน้ำมาก ซึมลง
- อาเจียนรุนแรง จนไม่สามารถรับประทานอาหาร หรือน้ำได้
- ถ่ายเป็นมูกเลือด
- มีไข้สูง
การดูแลรักษาเบื้องต้น
เมื่อเกิดโรคอุจจาระร่วงสามารถเริ่มต้นรักษาได้ที่บ้านโดยใช้กฎ 3 ข้อ ขององค์การนามัยโลก
1. ให้สารน้ำละลายเกลือแร่โอ อาร์ เอส หรือ ของเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ (สามารถทำ ORS ได้เองโดยใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนชา เกลือ 2 หยิบมือ ละลายในน้ำต้มสุก 8 ออนซ์)
2. ให้อาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หรือน้ำข้าว หรือแกงจืด ไม่งดอาหาร เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร
3. เมื่ออาการโรคอุจจาระร่วงไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์
การป้องกัน
โดยการกันดูแลสุขอนามัยในการรับประทานอาหาร การเก็บอาหาร และการปรุงอาหาร รวมทั้งล้างมือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
องค์การอนามัยโลกได้กำหนดกฎทอง 10 ประการ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคอุจจาระร่วง คือ
- เลือกอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างปลอดภัย เช่น เลือกนมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ ผักผลไม้ควรล้างด้วยน้ำปริมาณมากๆ ให้สะอาดทั่วถึง
- ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึงก่อนรับประทาน
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ
- หากมีความจำเป็นต้องเก็บอาหารที่ปรุงสุกไว้นานกว่า 4-5 ชั่วโมง ควรเก็บไว้ในตู้เย็นส่วนอาหารสำหรับทารกนั้นไม่ควรเก็บไว้ข้ามมื้อ
- ก่อนที่จะนำอาหารมารับประทานความอุ่นให้ร้อน
- ไม่นำอาหารที่ปรุงสุกแล้วมาปนกับอาหารดิบอีก เพราะอาหารที่สุกอาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้
- ล้างมือให้สะอาด ไม่ว่าจะเป็นก่อนการปรุงอาหาร ก่อนรับประทาน และโดยเฉพาะหลังการเข้าห้องน้ำ
- ดูแลความสะอาดของพื้นที่สำหรับเตรียมอาหาร ล้างทำความสะอาดหลังการใช้ทุกครั้ง
- เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู หรือสัตว์อื่นๆ
- ใช้น้ำสะอาดในการปรุงอาหาร และควรระวังเป็นพิเศษในการใช้น้ำเพื่อเตรียมอาหารเด็กทารกได้
อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่อาการท้องเสียมักจะหายได้เอง หากรักษาภาวะขาดน้ำ และรับประทานอาหารที่เหมาะสมเพราะการถ่ายอุจจาระเป็นกลไกของร่างกายที่จะขับไล่ของเสีย สารพิษและเชื้อโรคออกจากร่างกาย การรับประทานยาหยุดถ่ายหรือยาแก้ท้องเสียทำให้ลำไส้ต้องเก็บกักเชื้อโรคไว้นานขึ้น และทำให้ท้องอืดแน่นแต่ทั้งนี้หากเกิดภาวะช็อคจะต้องรีบพบแพทย์หรือสามารถขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ขอบคุณข้อมูล : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข